โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

24 กุมภาพันธ์ 2563

คุณพ่อคุณแม่ของใครมีอาการแบบนี้บ้างมั้ยคะ
– ภาวะทางอารมณ์เปลี่ยน อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย ขี้บ่น กระวนกระวาย
– ความอยากอาหารเปลี่ยน อาจเบื่ออาหาร หรือทานแบบไม่รู้อิ่ม
– สิ้นหวัง ท้อแท้ ไม่มีความสุข
– นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึกหรือหลับๆตื่นๆ
– รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ปลีกตัวออกจากสังคม
– ละเลยสุขลักษณะ ไม่ดูแลตัวเอง
– คิดช้า พูดช้า ตัดสินใจช้า สมาธิสั้น
– มีการเจ็บป่วยทางกายที่หาสาเหตุไม่ได้
– อ่อนเพลียโดยไม่มีสาเหตุ
– มีความคิดอยากตายหรือคิดถึงความตายบ่อยๆ

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักบอกหรือบ่นอาการทางกายมากกว่าจะพูดถึงอารมณ์และความรู้สึก ทำให้เรื่องสำคัญเหล่านี้ถูกมองข้ามหรือวินิจฉัยโรคไม่ได้

โรคซึมเศร้าอาจเป็นอาการนำหรือเกิดร่วมกับภาวะสมองเสื่อม จากสถิติพบว่าผู้สูงอายุเสี่ยงต่อภาวะฆ่าตัวตายและมีอัตราการทำสำเร็จสูงกว่าวัยอื่นๆ เพราะความรู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกเป็นภาระ และไม่กลัวตาย ซึ่งสาเหตุกระตุ้นหลักของโรคซึมเศร้ามาจากความเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรัง โรคทางสมอง และการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

วิธีดูแลผู้สูงอายุ
– ผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้าควรได้รับการเอาใจใส่ดูแลด้วยการพูดและรับฟังเพื่อให้เข้าใจกันมากขึ้น
– ควรเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุระบายความทุกข์ใจและเล่าถึงปัญหาที่มี
– หากิจกรรมให้ทำเพื่อให้เกิดความภูมิใจในตนเองหรือร่วมกันตั้งเป้าหมายเล็กๆในแต่ละวันเพื่อให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่าและมีความหวัง
– ชวนไปออกกำลังกายหรือชวนทำกิจกรรมที่ชอบ
– ไม่ควรให้นอนกลางวันนานเกินไปเพราะอาจทำให้มีปํญหาการนอนตอนกลางคืน
– ที่สำคัญคือ การสื่อสารด้วยความรักเลือกใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวล สัมผัสมือหรือนวดให้เบาๆ เดินจูงมือ การกอดหรือบอกรักก็จะเติมเต็มความรู้สึกที่ขาดไปได้

แม้แต่ตัวเราเองยังรู้สึกดี เวลามีคนบอกรักเราบ่อยๆ คุณพ่อคุณแม่ของพวกเราก็รู้สึกไม่ต่างกันค่ะ ท่านก็อยากได้ยินลูกๆบอกรักเช่นเดียวกัน ซึ่งสิ่งนี้มีคุณค่าทางใจยิ่งกว่าของขวัญราคาแพงอีกนะคะ

บทความโดย
เภสัชกรหญิงรุ่งมิตร ชุนเฮงพันธุ์
ผู้ร่วมก่อตั้งปิติ
ผลิตภัณฑ์เพื่อผิวแห้งคัน