โรคไตกับอาการคัน
4 มีนาคม 2563
ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก ประมาณว่าประชากรโลกมากกว่า 500 ล้านคนเป็นโรคไต ในประเทศไทยก็พบผู้ป่วยโรคไตสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน ที่น่าสนใจคือพบว่าผู้ป่วยโรคไตมีปัญหาเกี่ยวกับโรคผิวหนังบ่อยมาก
ไตมีบทบาทในการขับน้ำและแร่ธาตุออกทางปัสสาวะเพื่อให้ภายในร่างกายเกิดสมดุล แต่หากไตพัง สมดุลน้ำ และแร่ธาตุในร่างกายจะแปรปรวนไปด้วย ทำให้ผิวหนังเริ่มแห้งเหี่ยว ขาดน้ำ และมีอาการคันได้
“อาการคันตามผิวหนังอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการคันร้อยละ 10-50 จะตรวจพบว่ามีโรคทางกายภายในที่เป็นสาเหตุของอาการคันร่วมด้วย เช่น ในผู้ป่วยโรคไต อาการคันมักกำเริบเวลากลางคืน หรือระหว่างทำการฟอกไต หรือเพิ่งทำเสร็จ และมักมีผิวแห้งทั่วไป ผู้ป่วยโรคตับมักคันมากที่มือและเท้า และตำแหน่งที่สวมเสื้อผ้ารัดรูป, อาการคันจากโรคเลือด มักคันเฉพาะที่ ซึ่งมักเป็นที่บริเวณรอบทวารหนัก และที่อวัยวะเพศหญิง ในโรคเลือดบางอย่างอาจคันหลังสัมผัสน้ำ อาการคันจากโรคต่อมไร้ท่อ มักเป็นทั่วร่างกาย ผู้ป่วยเบาหวานบางรายอาจคันเฉพาะที่ พบบ่อยที่อวัยวะเพศหญิง หรือทวารหนัก อาจมีการติดเชื้อยีสต์และเชื้อราร่วมด้วย อาการคันในมะเร็ง มักคันรุนแรงปานกลางถึงคันมาก มักคันที่แขนด้านนอกและหน้าแข้ง” นพ.ประวิตร พิศาลบุตร แพทย์โรคผิวหนัง อดีตนักวิจัยสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา กล่าว
นพ.ประวิตร เสริมว่า ในกรณีที่คันจากโรคภายในผู้ป่วยจะมีผิวปกติ หรือมีรอยแกะเกาตุ่มนูนจากการเกา, ผิวหนาเหมือนเปลือกไม้ หรือมีการติดเชื้อที่ผิวหนัง ผู้ป่วยอาจมีอาการแสดงลักษณะผีเสื้อ (butterfly sign) คือมีบริเวณผิวหนังสีจาง หรือสีผิวปกติที่กลางหลัง และมีผิวสีเข้มหรือ รอยเกาอยู่รอบนอกตามบริเวณที่เอื้อมมือเกาได้ถึง
สำหรับผู้ป่วยโรคคันเรื้อรัง แพทย์อาจส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด ตรวจหาระดับน้ำตาล ตรวจอุจจาระ ขูดผิวหนังเพื่อหาเชื้อ และตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ผู้ป่วยที่มีอาการคันมากอาจนอนไม่หลับทำให้สุขภาพทรุดโทรม ดังนั้น ผู้ป่วยที่คันเรื้อรังควรดูแลไม่ให้ผิวแห้ง เช่น ทาครีมให้ความชุ่มชื้น, งดการฟอกสบู่บ่อยๆ, งดการอาบน้ำร้อนจัด, หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าระคายเคืองผิวง่าย และลดความเครียด เพราะความเครียดทำให้อาการคันกำเริบ
Cr: www.thaihealth.or.th